สถิติ
เปิดเมื่อ1/06/2015
อัพเดท10/07/2015
ผู้เข้าชม7229
แสดงหน้า8586
ปฎิทิน
April 2025
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
  
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
   




การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์: เสียงสะท้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ในโลกเสรีนิยมใหม่

อ่าน 2932 | ตอบ 0

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมทางมานุษยวิทยา “เสียงแห่งชาติพันธุ์ในโลกเสรีนิยมใหม่” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 เนื่องจากความสนใจสาขาวิชามานุษยวิทยาเป็นการส่วนตัวของผู้เขียน รวมถึงที่ผ่านมาผู้เขียนเองมีโอกาสได้ร่วมทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายชุมชน นอกจากการเรียนรู้การทำงานร่วมกันแล้ว ผู้เขียนยังได้เรียนรู้วิถีชีวิต มุมมอง และความคิดของพี่น้องชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ยังคงมีการดำเนินชีวิตตามวิถีของตนในกระแสสังคมปัจจุบันที่ผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 
การประชุมทางมานุษยวิทยา “เสียงแห่งชาติพันธุ์ในโลกเสรีนิยมใหม่” มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในมิติความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและหลากหลายภายใต้บริบทของ “เสรีนิยมใหม่” โดยได้แบ่งหัวข้อการเสวนาเป็นประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชาติพันธุ์กับสายสัมพันธ์ข้ามรัฐ (Ethnicity and Transnationalism) ชาติพันธุ์กับสื่อใหม่ (Ethnicity and New Media) ชาติพันธุ์กับการสร้างภาพตัวแทน (Ethnicity and Representation) ชาติพันธุ์ เรือนร่าง และความงาม (Ethnicity, Body and Beauty) คนต่างรุ่นในกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnicity and Trans-Generations) และชาติพันธุ์กับการท่องเที่ยว (Ethnicity and Tourism) 
 
การประชุมเริ่มต้นโดยปาฐกถาพิเศษจากศาสตราจารย์ยศ สันตสมบัติ เรื่อง “ชาติพันธุ์ใต้บงการเสรีนิยมใหม่” โดยศาสตราจารย์ยศ ได้กล่าวว่า “เสรีนิยมใหม่” (Neoliberalism) เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงจากช่วงทุนนิยมยุคหลัง (ราวทศวรรษที่ 1970s) เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยมีกระบวนการที่ยังคงสืบต่อกลไกของระบบตลาด หรือระบบการค้าเสรีไว้อย่างมั่นคง ตั้งแต่การสะสมทุน การผลิต และการบริโภค ต่างกันที่ทุนนิยมที่สืบต่อมาใช้ช่วงนี้อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเสรีนิยมใหม่ กลไกเหล่านี้จึงมีลักษณะเป็น “ทุนนิยมเสรี” ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น งานศึกษาสำคัญที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างของทุนนิยมเสรีและทุนนิยมดั้งเดิมอย่างชัดเจน ได้แก่งานศึกษาของ David Harvey ที่กล่าวว่าระบบทุนนิยมในช่วงเสรีนิยมใหม่มีรูปแบบการสะสมทุนที่แตกต่างจากช่วงทุนนิยมดั้งเดิมคือมีลักษณะแบบการ “ยึดทรัพย์”(Accumulate by Disposition) โดยปัจจุบันรัฐหลายแห่งใช้กระบวนการนี้เป็นนโยบาย (Technology of Govermence) เพื่อขยายอำนาจในการแสวงหาต้นทุนทางเศรษฐกิจ หรือขับเคลื่อนระบบทุนนิยมอย่างกว้างขวางเสมือนรัฐเป็นเจ้าของกิจการการค้า ดังที่ศาสตราจารย์ ดร. ยศ นิยามรัฐในลักษณะนี้ว่า “รัฐวาณิชย์” 
 
กรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นกระบวนการดังกล่าวอย่างชัดเจน (เพราะใกล้ตัวท่านผู้อ่าน และผู้เขียนอย่างมาก) ได้แก่ งานศึกษาเกี่ยวกับนโยบายด้านการค้าของจีนในภาคพื้นอุษาคเนย์ โดยรัฐบาลจีนได้ขยายอำนาจการลงทุนโดยใช้แนวคิด “พื้นที่ยกเว้น” (Neoliberal Logics and Space of Exception) ดังเช่น การใช้นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones) ซึ่งได้รุกคืบเข้ามายังดินแดนอุษาคเนย์ผ่านนโยบายการพัฒนา เช่น การส่งเสริมพืชเชิงพาณิชย์ หรือการเกษตรแบบพันธะสัญญา การเข้ามาให้ความช่วยเหลือในด้านระบบสาธารณูปโภค การคมนาคมต่างๆ  โดยนิยามตนเองว่าเป็นผู้ที่จะมาขจัดความยากจน และพัฒนาให้คนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กระบวนการดังกล่าวเป็นการเอื้อให้กลุ่มทุนจากต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในพื้นที่ชนบท หรือเป็นพื้นที่ชายขอบอย่างล้นหลาม พื้นที่เหล่านั้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นพื้นที่ “ทุนนิยมชายขอบ” พรมแดนของรัฐมีความสำคัญลดน้อยลง ผู้คนจะมีความสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่นตามวัตถุประสงค์ ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบข้ามพรมแดน (Ethnic Boundaries) มากขึ้น
 
กระแสเสรีนิยมใหม่ไม่เพียงรุกคืบเข้าสู่พื้นที่ชายขอบเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น กระบวนการดังกล่าวยังกระทบไปถึงสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนอันเป็นผลมาจากการพัฒนาที่มีทุนเป็นตัวขับเคลื่อน และละเลยคนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่จนดูเสมือนว่าพวกเขาต้องเป็นฝ่ายรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 
 
แต่ในความเป็นจริงผู้คนในพื้นที่ชายขอบหาได้เป็นฝ่ายรองรับกระแสการพัฒนาเหล่านั้นอย่างนิ่งเฉย กลุ่มคนเหล่านั้นกลับพยายามที่จะเคลื่อนไหวผ่านปฏิบัติการต่างๆ เพื่อช่วงชิงความหมาย และพยายามปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับคนกลุ่มอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ และอำนาจที่พวกเขาพึงมี
 
การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจึงเป็นความเคลื่อนไหวรูปแบบหนึ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายขอบนำมาใช้เป็นหนทางในการต่อสู้กับการท่องเที่ยวกระแสหลักที่นำพามาโดยระบบทุนนิยมเสรีในกระแสโลกเสรีนิยมใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาเรามักจะพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มักจะตกอยู่ในสถานะของ “ผู้ถูกท่องเที่ยว” เนื่องจากการท่องเที่ยวกระแสหลักได้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมถูกเบียดขับออกจากวัฒนธรรมของตน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในบทความนี้ไม่ใช่ผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ หากแต่สนใจกระบวนทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ใช้กระบวนการการจัดการท่องเที่ยวสร้างพื้นที่ให้ตนเองสามารถดำรงอยู่ได้ในความผันผวนของกระแสโลกเสรีนิยมใหม่
 
จากการที่ผู้เขียนได้เข้ารับฟังการเสวนาประเด็น “ชาติพันธุ์กับการท่องเที่ยว” ทำให้ผู้เขียนได้เข้าใจมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ต่อการท่องเที่ยวในบริบทที่หลากหลาย โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นตัวแทนจากชุมชนชาติพันธุ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสามพื้นที่ ได้แก่ คุณแสงโสม หาญทะเล ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล (อูรักลาโว้ย) เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล คุณสะพรั่ง วิถุนัด ผู้ใหญ่บ้านบ้านอาลึ ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์กูย จังหวัดสุรินทร์ และคุณคุณภัทร จะป้อ ผู้แทนชาติพันธุ์ลาหู่ บ้านดอยมด จังหวัดเชียงราย ซึ่งแต่ละชุมชนล้วนมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ต่างพื้นที่ ทำให้ทั้งได้เห็นเบื้องหลังของความคิดในกระบวนการจัดการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่
 
ผู้ใหญ่สะพรั่งได้เล่าถึงสถานการณ์ของชุมชนว่าก่อนหน้าการจัดการท่องเที่ยวคนในชุมชนเริ่มรู้สึกว่าวัฒนธรรมของชาวกูยนับวันเริ่มจะเลือนหายไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนในชุมชนจึงได้ริเริ่มการจัดการท่องเที่ยวโดยเน้นการนำเสนอวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวกูยในด้านต่างๆ ดังเช่น การทอผ้าแบบดั้งเดิมที่มีการย้อมสีผ้าไหมด้วยมะเกลือซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาการใช้พืชพันธุ์ท้องถิ่นมาใช้ในชีวิตประจำวัน การพักผ่อนในบ้านพักแบบโฮมสเตย์เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสและเรียนรู้วิถีความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เป็นต้น รวมถึงการใช้ภาษาและการแต่งกายแบบชาวกูยเพื่อสร้างการเรียนรู้ และประสบการณ์แปลกใหม่ให้แก่นักท่องเที่ยว โดยคนในชุมชนคาดหวังให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกในการฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมกูยที่นับวันใกล้จะสูญหายไป นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว และการร่วมกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เพื่อเกิดความรักและความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์กูยของตนเอง
 
ในส่วนของชุมชนลาหู่บ้านดอยมด คุณคุณภัทร หรือ “พี่จะหงอ” เล่าว่าชุมชนดอยมดเป็นชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ที่ยังคงดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ดำรงชีพด้านวิถีการผลิตทางการเกษตรที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ แต่ชุมชนยังคงประสบกับปัญหาด้านปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เนื่องจากการที่ตั้งของชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่สูง และอยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวิถีการผลิตปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจึงทำให้พื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ รวมถึงประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรในบางฤดู ชุมชนดอยมดจึงใช้กระบวนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการจัดการท่องเที่ยวผ่านการดำเนินการวิจัยเพื่อท้องถิ่น กระทั่งชุมชนสามารถดำเนินการจัดการท่องเที่ยวเพื่อการฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชน โดยมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวลาหู่บ้านดอยมดในแง่มุมต่างๆ เช่น พิธีกรรม ภูมิปัญญา วัฒนธรรมในวิถีชีวิต เป็นต้น
 
นอกจากการนำวิถีของชาติพันธุ์ลาหู่มาใช้ในการจัดการท่องเที่ยวแล้ว การท่องเที่ยวชุมชนดอยมดยังมีกิจกรรมการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ซึ่งกิจกรรมนี้ชุมชนไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลการใช้ประโยชน์จากป่าเท่านั้น แต่ยังได้สอดแทรกองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ด้วยความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีควบคู่กับชาวลาหู่มาตั้งแต่อดีต ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวทางในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ตามแนวคิดสมัยใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ แต่ชุมชนยังคงใช้ความเชื่อของชนเผ่าในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในการสร้างความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยวต่อการจัดการทรัพยากรของชุมชน
 
ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล เกาะหลีเป๊ะ เป็นกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกรณีการท่องเที่ยวที่แตดกต่างจากสองกรณีที่ผ่านมา เนื่องจากเกาะหลีเป๊ะเป็นพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวกระแสหลักมาอย่างยาวนาน กระทั่งปัจจุบันการท่องเที่ยวยังคงถาโถมเข้ามาสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลในหลายมิติ โดยคุณแสงโสม ชาติพันธุ์ชาวเล (อูรักลาโว้ย) เล่าว่าการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะมีจุดเริ่มมาจากหน่วยงานของรัฐได้ใช้พื้นที่บนเกาะหลีเป๊ะสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศ ต่อมาความงดงามของเกาะหลีเป๊ะได้เปิดเผยให้เป็นที่รับรู้ของคนภายนอกมากขึ้น เกาะหลีเป๊ะจึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งก็ตามมาด้วยธุรกิจท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่ชาวเล ชนพื้นเมืองที่อาศัยบนเกาะแห่งนี้มาก่อนจะคาดถึง 
 
ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวยังคงถาโถมเข้าสู่เกาะหลีเป๊ะอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับปัญหาต่างๆ จากการท่องเที่ยวที่ชุมชนพื้นเมืองบนเกาะต้องประสบมาอย่างยาวนานก็ไม่มีทีท่าว่าจะหายไป ซ้ำยังกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก ดังเช่น ความแออัดของพื้นที่ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของที่พักเอกชนเพื่อการรองรับนักท่องเที่ยว ทรัพยากรไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพโดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น วัฒนธรรมจากภายนอกที่เข้ามาสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วจนทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกว่าวัฒนธรรมของตนเองถูกกลืนกลาย 
 
ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชาวอูรักลาโว้ยในการดำเนินชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังสร้างความสั่นคลอนไปถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชนเผ่า ดังที่คุณแสงโสมได้เล่าถึงการรุกคืบของธุรกิจการท่องเที่ยวบริเวณพื้นที่หน้าหาด ที่ทำให้ชาวเลซึ่งมีวิถีชีวิตที่สงบ เรียบง่าย ตั้งบ้านเรือน และมีวิถีการทำมาหากินอยู่ติดกับทะเลจำเป็นต้องร่นถอยเข้ามาอาศัยอยู่บริเวณกลางเกาะ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการรุกไล่ชนพื้นเมืองให้ออกจากพื้นที่ที่เคยอาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังเป็นการเบียดขับชาวเลให้ออกจากพื้นที่แห่งชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง กรณีที่น่าสลดใจที่สุดคือรีสอร์ทบางแห่งไดเล่วงล้ำเข้ามาใกล้กับยังพื้นที่ฝังศพของชุมชนซึ่งเป็นเสมือนการล่วงล้ำเข้าสู่พื้นที่แห่งจิตวิญญาณของชุมชน 
 
การท่องเที่ยวกระแสหลักเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมที่ได้ถาโถมเข้าใส่ชุมชนชาติพันธุ์มาอย่างยาวนาน และได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในโลกเสรีนิยมใหม่ในปัจจุบัน แต่ในทางกลับกัน เมื่อชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่อาจหลีกหนีการแสการท่องเที่ยวที่วิ่งเข้าหาชุมชนได้ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้กลับใช้การจัดการท่องเที่ยวเป็นปฏิบัติการในการสร้างอำนาจการต่อรองกับกลุ่มคน หรือกระแสความคิดจากภายนอก ซึ่งไม่เฉพาะการเข้าถึงพื้นที่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังใช้การท่องเที่ยวเป็นพื้นที่ในการต่อรองอำนาจเพื่อการจัดการผลกระทบด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของตน ดังที่ชุมชนชาวกูยได้ใช้กระบวนการประกอบสร้างอัตลักษณ์ในการการท่องเที่ยวทาง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หรือชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ บ้านดอยมด ที่นำกระบวนการจัดการทรัพยากรป่าไม้ด้วยความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อการสร้างความเข้าใจแก่คนภายนอกที่มักมองกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ว่าเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า ให้เข้าใจว่าพวกเขาอยู่กับป่าอย่างพึ่งพิงเพราะป่าก็เป็นเสมือนบ้านของพวกเขา
 
ส่วนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ แม้ว่าพวกเขายังไม่มีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเขาพยายามส่งเสียงเพื่อการมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวตามวิถีของชาวเล เพื่อจะทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อคนพื้นถิ่นดังเช่นที่เป็นอยู่ ดังที่คุณแสงโสมได้บอกเล่าบนเวทีเสวนาว่า คำว่า“หลีเป๊ะ” เป็นคำที่มีที่มาจากภาษาชาวเล แปลว่า เรียบ หรือบาง (อย่างแผ่นกระดาษ) การท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะจึงน่าจะมีความเรียบง่าย มิใช่การที่นักท่องเที่ยวต้องเข้ามาบนเกาะแล้วพบกับโรงแรม หรือรีสอร์ทที่เป็นตึกสูงและหนาแน่นดังเช่นทุกวันนี้ 
 
ในโลกเสรีนิยมใหม่ที่กระแสความคิดต่างๆ ได้ก้าวข้ามเส้นพรมแดนแห่งรัฐ และวิ่งเข้าใส่พื้นที่ชายขอบอย่างรวดเร็ว หลายชุมชนไม่สามารถปฏิเสธการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ แต่สิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์คาดหวังคือพื้นที่ให้พวกเขาได้มีสิทธิในการจัดการการท่องเที่ยวในแบบที่พวกเขาควรจะทำ และควรจะเป็น 
 
การจัดการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์โดยกลุ่มชาติพันธุ์ในบริบทของกระแสโลกเสรีนิยมใหม่จึงเป็นเสมือนพื้นที่ในการส่งเสียงสะท้อนจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการให้สังคมได้รับรู้ว่าพวกเขายังมีตัวตน มีชีวิต และมีสิทธิที่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ ...
 
 
อนุวัตร อินทนา 
สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน
 
ความคิดเห็นของผู้เข้าชม
ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
สถานะ : รหัสผ่าน :
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง :
รหัสความปลอดภัย :